สภาอุตสาหกรรมจับมือ กปภ. ร่วมหาแนวทางใช้น้ำประปาในพื้นที่วิกฤติแผ่นดินทรุด

10 พฤษภาคม 2548


สภาอุตสาหกรรมจับมือ กปภ. ร่วมหาแนวทางใช้น้ำประปาในพื้นที่วิกฤติแผ่นดินทรุด

    สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) หารือแนวทางการใช้น้ำประปาเพื่อลดวิกฤติแผ่นดินทรุดและวางมาตรการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ สำนักงานใหญ่ กปภ.

    ดร.ประเสริฐ เชื้อพานิช ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทุกหน่วยงานในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑลรวม 7 จังหวัด ยุติการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อลดภาวะเสี่ยงภัยจากแผ่นดินทรุดตัว โดยให้การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคสร้างระบบผลิตน้ำประปาผิวดินขึ้นมารองรับความต้องการใช้น้ำประปาของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเพียงพอนั้น ล่าสุดปรากฏว่ามีผู้ประกอบการหลายรายยังมีความวิตกกังวลในเรื่องน้ำประปา เช่น ปัญหาน้ำประปาไม่ไหลเนื่องจากท่อแตกรั่ว กำลังการผลิตไม่เพียงพอ คุณภาพน้ำ รวมทั้งอัตราค่าน้ำประปา ในการนี้ กปภ. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยผู้แทนสถานประกอบการในพื้นที่ จ.ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม จึงได้ร่วมกันประชุมหารือเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ สำนักงานใหญ่ กปภ. โดยมีข้อสรุปว่า ปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอในพื้นที่รังสิต-ปทุมธานี เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วนั้น กปภ. ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วโดยการเพิ่มกำลังการผลิตบริเวณโรงกรองน้ำรังสิต ปทุมธานี และอยุธยา รวมทั้งการก่อสร้างโรงกรองน้ำเพิ่มอีก 1 แห่งที่คลอง 13 อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการได้อย่างถาวร  สำหรับพื้นที่วิกฤติ จ.สมุทรสาครและนครปฐมนั้น กปภ. ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ท่อประปาผ่านแล้วลดการใช้น้ำบาดาลลงเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ โดย กปภ. ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาเป็นประจำทุกเดือนส่งให้กับสภาอุตสาหกรรมด้วย

    ดร.ประเสริฐ เชื้อพานิช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องอัตราค่าน้ำประปานั้น ในขณะนี้ กปภ. ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาตามนโยบายของรัฐบาล โดยอัตราค่าน้ำที่ กปภ. ใช้อยู่นั้นเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้การขึ้นอัตราค่าน้ำของ กปภ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน สำหรับกรณีหยุดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมท่อแตกรั่วหรือเหตุไฟฟ้าขัดข้องนั้น กปภ. จะแจ้งเหตุฉุกเฉินและขัดข้องในการผลิตน้ำประปา (หากมี) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบทันท่วงที

 
เลื่อนขึ้นข้างบน