การจัดประเภทผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2557


ระเบียบการประปาส่วนภูมิภาค
ว่าด้วยการจัดประเภทผู้ใช้น้ำและการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ
พ.ศ. 2557

เพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องการกำหนดประเภทผู้ใช้น้ำและการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ เป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกการประปาส่วนภูมิภาคสาขา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 และข้อ 4 แห่งข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค ว่าด้วย การกำหนดราคาจำหน่ายน้ำประปา (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ผู้ว่าการจึงวางระเบียบไว้ดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบการประปาส่วนภูมิภาค ว่าด้วยการจัดประเภทผู้ใช้น้ำและการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2557”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกคู่มือการจัดประเภทผู้ใช้น้ำสำหรับการจัดเก็บค่าน้ำประปาตามโครงสร้างอัตราค่าน้ำ ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545
ข้อ 4 ประเภทผู้ใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามเอกสารท้ายระเบียบนี้
ข้อ 5 การจัดประเภทผู้ใช้น้ำและเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ ให้พิจารณาจากสภาพการใช้น้ำและวัตถุประสงค์สำคัญการใช้น้ำตามที่เป็นจริง
ข้อ 6 ให้ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขา แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัด ประเภทผู้ใช้น้ำและการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้นพื่อเสนอความเห็นต่อผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพิจารณาอนุมัติการจัดประเภทผู้ใช้น้ำและการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
ข้อ 7 การเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ ให้พิจารณาเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำ เมื่อมีเหตุดังนี้
7.1 เมื่อมีคำร้องขอของผู้ใช้น้ำ
7.2 เมื่อมีรายงานของผู้ปฏิบัติงาน
7.3 เมื่อมีรายงานจากผู้รับจ้างอ่านมาตรวัดน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค
7.4 เมื่อสุ่มตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์การใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไป
7.5 เมื่อมีเหตุอื่นอันสมควร การเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้ดำเนินการภายใน 30 วัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขา โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่สภาพการใช้น้ำเปลี่ยนแปลง
ข้อ 8 การจัดประเภทผู้ใช้น้ำที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้นำเสนอรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) พิจารณา
ข้อ 9 คำสั่งหรือบันทึกสั่งการใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


ผู้ใช้น้ำประเภท ที่ 1: ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ

1. สถานที่พักอาศัยของเอกชน
พิจารณาจากวัตถุประสงค์หลักที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการขอใช้น้ำเพื่อการพักอาศัย ซึ่งอาจเป็นได้ ทั้งแบบรายเดี่ยว และแบบรายกลุ่ม
แบบรายเดี่ยว มีลักษณะเป็นการใช้น้ำใน ครัวเรือน เช่น บ้าน ทาวน์เฮาส์ ที่ติดตั้งมาตรวัดน้ำของ กปภ. สำหรับสถานที่แห่งนั้นเป็นการเฉพาะ มิได้จ่ายน้ำไปใช้ยังสถานที่แห่งอื่นด้วย
แบบรายกลุ่ม มีลักษณะเป็นการใช้น้ำแบบหลายครัวเรือนที่อยู่อาศัยในอาคาร/เรือนแถว โดย ติดตั้งมาตรวัดน้ำเครื่องเดียว แล้วจ่ายน้ำให้กับ ผู้อยู่อาศัยแต่ละหลัง หรือแต่ละห้องในอาคาร เช่น หอพัก แฟลต คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ อาคารชุด เป็นต้น

2. สถานที่พักอาศัยของรัฐ
สถานที่ที่หน่วยงานของรัฐจัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก แฟลต หรืออาคารในลักษณะใดก็ตาม

3. สถานที่พักอาศัย และ มีการประกอบการค้า
สถานที่ค้าขายเพื่อประกอบการ หรือรับจ้าง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งของที่ขายราคาไม่สูงนักและมีจำนวนน้อย โดยดำเนินการเอง ไม่ได้จ้าง หรือให้ผู้อื่นเช่าดำเนินการ

4. ศาสนสถาน มูลนิธิ หรือองค์กรเพื่อการกุศลสาธารณะ
เป็นสถานที่ในการดำเนินกิจกรรม หรือประกอบกิจกรรมในทุกศาสนา เช่น วัด โบสถ์ พราหมณ์ โบสถ์คริสต์ มัสยิด สุเหร่า ศาลเจ้า โรงเจ สุสาน สถานที่สำหรับฝังหรือเผาศพ เป็นต้น มูลนิธิจะมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ส่วนองค์กรอาจอยู่ในรูปของบุคคลกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน และดำเนินกิจกรรม บางอย่างร่วมกันอย่างมีขั้นตอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น ทั้งนี้มูลนิธิหรือองค์กรดังกล่าว จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น

5. พรรคการเมือง
สถานที่ทำการพรรคการเมือง หมายถึง สถานที่ทำการของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อย่างเดียวกัน ร่วมกันจัดตั้งและจดทะเบียนเป็น พรรคการเมืองตามกฎหมาย ให้หมายความรวมถึง สถานที่ทำการสาขาของพรรคการเมือง หรือสถานที่ เพื่อการพักอาศัยแต่มีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

หมายเหตุ : ผู้ใช้น้ำประเภท 1 ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ หากเดือนใดมีปริมาณการใช้น้ำมากกว่า 50 ลบ.ม./เดือน ให้คิดอัตราค่าน้ำประปาผู้ใช้น้ำประเภท 2 ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก ตั้งแต่ ลบ.ม. ที่ 51

ผู้ใช้น้ำประเภท ที่ 2: ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก

1. ที่ทำการของหน่วยงานราชการ
สถานที่ทำการของหน่วยงานราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ศาล สำนักงานอัยการ สถานีตำรวจ สำนักงานศุลกากร สำนักงานสรรพากร สำนักงานที่ดิน สถานธนานุเคราะห์ เป็นต้น สถานที่ทำการของหน่วยงานบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล สุขาภิบาล สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น เช่น เมืองพัทยา เป็นต้น

2. โรงพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของรัฐ
โรงพยาบาลของรัฐ หมายถึง สถานที่ ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของรัฐ หรือของ ส่วนราชการที่ให้การตรวจรักษา และป้องกันโรคให้แก่ประชาชน และมีเตียงสำหรับคนไข้เข้าพักรักษาตัวด้วย
สถานพยาบาลของรัฐ หมายถึง สถานที่ ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของรัฐ หรือของ ส่วนราชการ ที่ดำเนินการลักษณะเช่นเดียวกับ โรงพยาบาล แต่มีขนาดย่อมกว่า เช่น สถานีอนามัย เป็นต้น

3. สถานพยาบาลของเอกชน
สถานที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของเอกชน ที่ดำเนินการลักษณะเช่นเดียวกับโรงพยาบาล แต่มีขนาดย่อมกว่า เช่น คลินิก โพลีคลินิก เป็นต้น

4. สถานสงเคราะห์ของรัฐ
สถานที่ให้การช่วยเหลือเด็ก คนชรา คนพิการ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมอง เป็นต้น

5. สถานศึกษาของรัฐ
สถานที่ให้การศึกษา เล่าเรียน ฝึกฝน และอบรมของรัฐ ที่เปิดสอนทุกระดับ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

6. สถานศึกษาของเอกชนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา สถานที่ให้การศึกษา เล่าเรียน ฝึกฝน และอบรมของเอกชน ในระดับที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา (ปริญญา) ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ คือมีการเปิดสอนหลักสูตร ไม่เกินกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า

7. สถานกงสุล องค์การระหว่างประเทศ
สถานกงสุล เป็นที่ทำการของกงสุล เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือคนของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุล ที่ไปอยู่ในต่างประเทศนั้น และเพื่อดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้ง
สถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ หมายถึง ศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการ ที่ประกอบ กันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อดำเนินการกิจการ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือในตราสารจัดตั้ง เช่น องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย เป็นต้น

8. ตลาด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าสหกรณ์
ตลาด หมายถึง สถานที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่างๆ โดยเป็นสถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็น ที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้า และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุม เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราว หรือตามวันที่กำหนด
ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หมายถึง สถานที่ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าเพื่อจำหน่าย มีร้านขายสินค้านานาชาติ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้มาซื้อสินค้า เช่น ที่จอดรถ ร้านอาหาร เป็นต้น
สหกรณ์ หมายถึง ที่ทำการของคณะบุคคล ซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น

9. ธุรกิจขนาดเล็ก สำนักงานธุรกิจ
เป็นสถานที่ที่อาจมีการพักอาศัย และมี การค้าขาย ประกอบการหรือรับจ้าง ที่มีขนาดใหญ่กว่าผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัย
อุตสาหกรรมในครัวเรือน หมายถึง สถานที่ประกอบกิจกรรมที่ใช้ทุนและแรงงาน เพื่อผลิตสิ่งของหรือจัดให้มีบริการ ซึ่งเป็นการดำเนินการกันเอง ในครอบครัวที่อยู่ในบ้านเรือนเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (โฮมสเตย์) เป็นต้น
สถานที่พัก ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคน เดินทางหรือบุคคลอื่นมีค่าตอบแทน ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก

หมายเหตุ :ผู้ใช้น้ำประเภท 2 ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 28 และ29 หากเดือนใดมีปริมาณการใช้น้ำมากกว่า 80 ลบ./เดือน ให้คิดอัตราค่าน้ำประปาประเภท 3 รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม และ ธุรกิจ ขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ลบ.ม. ที่ 81

ผู้ใช้น้ำประเภท ที่ 3: รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดใหญ่

1. ที่ทำการของรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน
รัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ หรือกิจการ ของรัฐ หรือบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจของรัฐมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
องค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการ อันเป็นบริการสาธารณะ

2. การอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรม หมายถึง สำนักงาน หรือสถานที่ในการประกอบกิจกรรมที่ใช้ทุนและแรงงานที่ใช้เครื่องจักร มีกําลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้าหรือกําลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือ ใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สําหรับทํา ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบํารุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลําเลียง เก็บรักษา หรือทําลายสิ่งใดๆ ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กําหนดในกฎกระทรวง
นิคมอุตสาหกรรม หมายถึง เขตอุตสาหกรรมทั่วไปหรือเขตอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งของรัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และที่ร่วมกันดำเนินการ

3. สถานบริการและที่พัก
สถานบริการ หมายถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ทางการค้า ดังต่อไปนี้
(1) สถานเต้นรำ รำวง หรือจัดให้มีบริการ ในลักษณะนี้
(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชาหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ
(3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมี ผู้บริการให้แก่ลูกค้า
(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือ เครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายโดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง
โรงภาพยนตร์ หมายถึง สถานที่เฉพาะสำหรับฉายภาพยนตร์ โรงหนัง
สมาคม หมายถึง สถานที่ทำการของนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระทำการใดๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกัน
สโมสร หมายถึง สถานที่สำหรับร่วมประชุมคบหากัน เช่น สโมสรข้าราชการ สโมสรพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ สนามกีฬาเอกชน หมายถึง สถานที่สำหรับเล่น หรือแข่งขันกีฬาของเอกชน สถานที่พัก ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคน เดินทางหรือบุคคลอื่นมีค่าตอบแทน ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่
อาคารชุดเพื่อประกอบธุรกิจ เป็นอาคารให้เช่าห้องในอาคารเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ผู้เช่า ใช้ประกอบธุรกิจ โดยที่ผู้เช่ามีการเสียค่าเช่าห้องดังกล่าวให้กับผู้ให้เช่าด้วย

4. ธนาคารพาณิชย์
สำนักงาน หรือที่ทำการของหน่วยงานที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้ ธนาคาร หมายถึง สำนักงาน หรือที่ทำการของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อว่าธนาคาร ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินและธุรกิจ หลักทรัพย์ที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ
ธุรกิจเงินทุน หมายถึง สำนักงานหรือที่ทำการที่ประกอบ กิจการธุรกิจเงินทุน ซึ่งเงินทุน หมายถึง เงินตราที่องค์กรธุรกิจจัดหามา เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน
หลักทรัพย์ หมายถึง สำนักงานหรือที่ทำการที่ประกอบกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งหลักทรัพย์ หมายถึง ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สิน เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อ หน่วยลงทุน เป็นต้น เครดิตฟองซิเอร์ หมายถึง สำนักงานหรือที่ทำการ ของกิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจํานองอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าปกติ หรือกิจการรับซื้อฝากหรือกิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่กฎหมาย กําหนด
ประกันภัย หมายถึง สำนักงาน หรือที่ทำการ ที่ประกอบการเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงภัย ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัท ประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้
โรงรับจำนำ หมายถึง สถานที่รับจํานํา ซึ่งประกอบการรับจํานําสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้ เป็นปกติธุระ และหมายความรวมตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้ สําหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นของเอกชน

5. โรงพยาบาลของเอกชน
โรงพยาบาลของเอกชน หมายถึง สถานที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของเอกชนที่ให้การตรวจรักษา และป้องกันโรคให้แก่ประชาชน และมีเตียงสำหรับคนไข้เข้าพักรักษาตัวด้วย

6. สถานศึกษาเอกชนระดับอุดมศึกษา
เป็นสถานที่ให้การศึกษา เล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม ของเอกชนในระดับอุดมศึกษา (ปริญญา) คือ มีการเปิดสอนหลักสูตรเกินกว่าระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า

7. สถานีบริการเชื้อเพลิง
เป็นสถานที่ที่ให้บริการ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานพาหนะในการเติมน้ำมัน หรือ เชื้อเพลิงอื่นใดให้กับยานพาหนะ ที่ประกอบการ โดยเอกชน ซึ่งอาจจะมีการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอื่นด้วยก็ได้ เช่น ร้านอาหาร ร้านปะยาง ร้านซ่อมรถ ห้องน้ำ เป็นต้น
อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งสัตว์ปีกและสัตว์น้ำ ฯลฯ
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพิมพ์ เช่น โรงพิมพ์ ทำแฟ้มเอกสาร ฯลฯ
เขต-นิคมอุตสาหกรรมรวม ได้แก่น้ำจำหน่ายที่ขายผ่านมาตรรวมให้แก่ เขตนิคมอุตสาหกรรม ของ กนอ., นิคมอุตสาหกรรม
ร่วมดำเนินงานระหว่างภาคเอกชนกับ กนอ. และ เขตอุตสาหกรรมของเอกชน
อุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น

8. การขอใช้น้ำชั่วคราว
เป็นการขอใช้น้ำชั่วคราวเพื่อการใดการหนึ่ง โดยเฉพาะ

9. ธุรกิจการค้าขนาดใหญ่อื่นๆ
เป็นสำนักงาน หรือสถานที่ประกอบธุรกิจที่ นอกเหนือจากผู้ใช้น้ำประเภทที่ 3 ที่กล่าวข้างต้น
เลื่อนขึ้นข้างบน