16 มิถุนายน 2548

ปีที่ 26 ข่าวที่ 005/ 2548 ประจำวันที่ 8 เมษายน 2548
กปภ.ประกาศพื้นที่น้ำประปาดื่มได้แห่งที่ 60 ที่พะเยา
วันนี้ (8 เมษายน 2548) ณ บริเวณสวนสุขภาพริมกว๊าน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กปภ. ร่วมกับกรมอนามัย และเทศบาลเมืองพะเยา จัดพิธีประกาศพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาดื่มน้ำประปาที่สะอาดได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก
นายปรีชา ประพฤติธรรม รองผู้ว่าการภาค 1 การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า โครงการน้ำประปาดื่มได้เป็นโครงการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กปภ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งจ่ายน้ำประปาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก จากต้นทางคือ โรงกรองน้ำให้ถึงมิเตอร์หน้าบ้านของลูกค้าทุกรายโดยยังคงคุณภาพน้ำดื่มได้จากก๊อก สำหรับพื้นที่ จ.พะเยา ภายหลังจากที่ กปภ.ได้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาแบบใหม่ที่แตกต่างจากสำนักงานประปาอื่นและเป็นแห่งแรกของประเทศไทย คือเป็นระบบที่สามารถกำจัดสาหร่ายที่ปนเปื้อนมากับน้ำดิบจากกว๊านพะเยาได้สำเร็จ ทำให้น้ำประปาที่ผลิตได้สะอาด ไร้กลิ่น และปลอดภัยเหมาะแก่การบริโภค ตลอดจนได้มีการปรับเปลี่ยนเส้นท่อที่เก่าและมีอายุใช้งานมานาน รวมมูลค่าโครงการกว่า 300 ล้านบาทแล้ว กปภ.จึงได้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือของจังหวัดพะเยา และเทศบาลเมืองพะเยา ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาที่จ่ายไปสู่ประชาชนตามจุดต่างๆ จนมั่นใจได้ว่าน้ำประปาที่ส่งถึงมิเตอร์หน้าอาคารบ้านเรือนของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ยังคงคุณภาพได้มาตรฐานดื่มได้ จึงได้พร้อมใจกันประกาศเป็นเขตพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นที่จะหันมาดื่มน้ำประปาจากก๊อกโดยตรง อันเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดมาบริโภค และลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยา มีการดูแลปรับปรุงระบบท่อภายในบ้านให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ก็สามารถดื่มน้ำประปาได้โดยตรงจากก๊อกภายในบ้าน สำหรับน้ำดื่มสาธารณะ กปภ.ได้ติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป 3 จุด คือ บริเวณสวนสุขภาพ (ริมกว๊าน), หน้าสวนสมเด็จย่าฯ ถนนริมกว๊าน และลานจอดรถหน้าวัดศรีโคมคำ ถนนพหลโยธิน
ปัจจุบัน กปภ.มีสำนักงานประปาที่ได้รับการประกาศรับรองว่าเป็นพื้นที่น้ำประปาดื่มได้แล้วรวม 60 แห่ง และยังมีเป้าหมายที่จะขยายโครงการเพิ่มเติมออกไปยังพื้นที่จ่ายน้ำอื่นๆ อีกจนกว่าจะครอบคลุมพื้นที่จ่ายน้ำทั่วประเทศ.