13 สิงหาคม 2567
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน (ชป.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำดิบ พื้นที่ให้บริการน้ำประปา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี I๐T เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปาของ กปภ. ณ การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า กปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและควบคุมคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปา รวมถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กปภ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูล ความรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี IoT เทคโนโลยีโทรมาตร และนวัตกรรมที่มีมาใช้ในการบริหารจัดการกับภารกิจของ กปภ. จึงประสานความร่วมมือลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำดิบ พื้นที่ให้บริการน้ำประปา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยี IoTร่วมกับหน่วยงาน สทนช. ชป. คพ. และ สสน. โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การวางแผนรับมือภัยแล้ง ติดตาม และประเมินสถานการณ์น้ำ รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรอง การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและบูรณาการข้อมูลสารสนเทศระหว่างหน่วยงาน พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงานร่วมกัน ศึกษา วิจัย วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมของบุคลากรระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เห็นสมควรร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนที่จะได้รับบริการจาก กปภ. ด้วยระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
นายจีระศักดิ์ เงยวิจิตร รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างความสัมพันธ์อันดี และสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตรงตามวัตถุประสงค์ร่วมกันทุกประการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ดี เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง