กปภ. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงแล้ง วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

28 ธันวาคม 2563


กปภ. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงแล้ง วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

          การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สำรวจในพื้นที่ให้บริการ พบจำนวน 47 สาขาใน 33 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้ง ซึ่ง กปภ. มีมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาไว้พร้อมแล้ว ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อผ่านช่วงฤดูแล้งนี้ไปด้วยกัน

          นายกฤษฎา ศังขมณี รองผู้ว่าการ (วิชาการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยว่า กปภ. สำรวจในพื้นที่ให้บริการพบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้งในความรับผิดชอบของ กปภ.สาขา 47 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ใน33 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ภาคตะวันตก 2 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ภาคกลาง 7 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ชุมพร โดย กปภ. มีมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำดิบในฤดูแล้งปี 2563/2564ไว้รองรับเตรียมพร้อม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแหล่งน้ำดิบ มุ่งเน้นให้ กปภ. ทุกสาขามีปริมาณน้ำดิบที่มีคุณภาพตลอดฤดูแล้ง รวมทั้งสำรวจประเมินแหล่งน้ำดิบหลักพร้อมกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองให้เพียงพอ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น  กับระบบการผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนด้านการผลิตและจ่ายน้ำ บริหารจัดการผลิตและจ่ายน้ำเพื่อรักษาปริมาณน้ำดิบที่คงอยู่ให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้ง และจัดเตรียมกำลังคน รถยนต์บรรทุกน้ำให้พร้อมและเพียงพอต่อการใช้งาน ด้านการช่วยเหลือประชาชนเตรียมพร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ หากมีความจำเป็นต้องนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในและนอกเขตบริการ และประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม กปภ.ต้องขอความร่วมมือทุกครัวเรือนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าโดยการปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวันเพราะทรัพยากรน้ำมีจำนวนจำกัด การกักเก็บน้ำยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งตรวจสอบระบบประปาภายในอาคารบ้านเรือนว่าไม่มีจุดแตกรั่ว ซึ่งเป็นสาเหตุของค่าน้ำประปาสูงผิดปกติและสูญเสียทรัพยากรน้ำไปอย่างเปล่าประโยชน์หากประชาชนพบเห็นท่อประปาแตกรั่ว กรุณาแจ้งที่ กปภ.สาขาที่ใช้บริการ หรือ PWA Contact Center 1662

 
เลื่อนขึ้นข้างบน